Friday, March 29, 2024
Homeบทความเรื่องที่คุณต้องรู้เกี่ยวกับระบบการเงินโลก

เรื่องที่คุณต้องรู้เกี่ยวกับระบบการเงินโลก

ระบบการเงินประวัติศาสตร์และสถานการณ์ปัจจุบัน
Chatchai SribunditJune 2018
Barter System
เดิมที ก่อนที่เราจะมีเงินตราใช้  มนุษย์ใช้การแลกเปลี่ยนสินค้าต่อสินค้า เรียกว่าระบบ barter system ใครผลิตอะไรได้ก็เอามาแลกกันในตลาดแลกเปลี่ยน  ประวัติศาสตร์การแลกเปลี่ยนย้อนไปตั้งแต่ยุค 6000 ปีก่อน คศ. ในยุคเมโสโปเตเมีย
ต่อมามีตัวกลาง เช่น เกลือ ข้าว หรือโภคภัณฑ์อื่นใดที่มีมูลค่า มาใช้เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยน เช่นสมัยหนึ่งจักรวรรดิโรมัน จ่ายเงินเดือนทหารเป็นเกลือ ซึ่งสามารถเอาไปแลกเป็นเครื่องอุปโภคบริโภคอื่นๆ
การแลกเปลี่ยนสิ่งของต่อสิ่งของ มีข้อจำกัด เป็นที่มาของการสร้างระบบเงินตราขึ้นมา  เราใช้แม้กระทั่งเปลือกหอย เพื่อเป็นหน่วยเงินที่เล็กที่สุด  หน่วยใหญ่ขึ้นมาเราใช้โลหะตีเป็นแผ่นเหรียญบางๆ   โลหะมีค่าสามารถตีหรือหลอมเป็นขนาดต่างๆ ซึ่งโลหะมีค่าเหล่านี้ มีมูลค่าในตัวของมันเอง ดังนั้นระบบเงินตราโลหะมีค่าในยุคแรก จึงเป็นการแลกเปลี่ยนที่ตัว currency มีมูลค่าเต็มในตัวเอง
Commodities Currency
จีนเป็นประเทศแรกที่เริ่มพิมพ์ธนบัตร โดยการผลิตธนบัตรแต่เดิม จะมีโลหะมีค่ามาค้ำไว้   ความจริงแล้ว ธนบัตรแบบของจีน คือตั๋วแลกเงิน ซึ่งออกโดยบุคคลหรือองค์กรที่เชื่อถือได้ เมื่อมีเจ้าของเงินนำเอาเงินโลหะมาฝากไว้  ก็จะออกตั๋วแลกเงินให้ เพื่อเอาไปซื้อสินค้า ผู้ที่ได้รับตั๋วแลกเงินไป  ก็สามารถมาขึ้นเงินเพื่อรับเงินโลหะกลับไปนั่นเอง  การใช้ธนบัตรเป็นตัวกลางทำให้เกิดความสะดวกคล่องตัว ไม่ต้องพกเงินทองเป็นหาบๆ เสี่ยงเป็นเป้าของการโจรกรรม  ดังนั้นแม้เราจะเห็นเป็นเพียงกระดาษ​  แต่มันมีมูลค่าที่แท้จริง backup ไว้อยู่ และผู้ถือธนบัตร สามารถนำธนบัตรกลับไปแลกเป็นโลหะมีค่าได้  ธนบัตรยุคแรกจึงทำหน้าที่เป็นตัวแทนของโลหะมีค่า เพื่อความสะดวกคล่องตัวในการค้าขายแลกเปลี่ยน
ระเบียบการเงินโลกยุคแรก  เร่ิมต้นในปี 1944 โดยผู้แทนจาก 44 ประเทศทั่วโลกได้ทำความตกลงกัน ที่ Breton Woods, New Hampshire ด้านการแลกเปลี่ยนเงินตราสากล เพื่อป้องกันการแย่งลดค่าเงินตัวเองหวังความได้เปรียบการส่งออก  สหรัฐอเมริกาได้กำหนดให้เงินสกุลดอลลาร์มีราคาผูกคงที่กับทองคำ ในอัตรา 35 US ดอลลาร์ต่อทองคำหนึ่งออนซ์  ประเทศต่างๆ ทำการค้าขายระหว่างกันด้วยเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสามารถนำไปแลกเป็นทองคำต่อรัฐบาลสหรัฐได้ ระบบนี้เรียก Breton Woods system
เนื่องจากขณะนั้นสหรัฐอเมริกาถือทองคำไว้กว่าครึ่งหนึ่งของทองคำโลก  ระบบนี้เริ่มต้นก็ดูเหมือนจะมั่นคงดี และสหรัฐอเมริกา มีหน้าที่การันตีว่า ดอลลาร์จะต้องมีมูลค่าของทองคำมา Backup ไว้ เพื่อเสถียรภาพของระบบการเงินโลก
อย่างไรก็ตาม หลังปี 1950 จนถึง 1969 เยอรมันนีและญี่ปุ่นเริ่มฟื้นตัวหลังสงคราม เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกามีขนาดสัดส่วนลดลงเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับเศรษฐกิจโลก ประจวบกับการที่สหรัฐอเมริกาใช้จ่ายเกินตัว  งบดุลติดลบ หนี้สินมหาศาลจากสงครามเวียดนาม ซึ่งกินเวลายาวนานตั้งแต่ 1955-1975 ปัญหาเงินเฟ้อจากการพิมพ์แบงค์ออกมาใช้เรื่อยๆ  ส่งผลให้ดอลลาร์สหรัฐ มีมูลค่าเกินมูลค่าที่แท้จริงมาตั้งแต่ปี 1960
ในปี 1966 ดอลลาร์สหรัฐที่อยู่ในธนาคารกลางชาติต่างๆ นอกเหนือจากสหรัฐมีจำนวน 14,000 ล้านเหรียญ ในขณะที่ทองคำสำรองของสหรัฐมีมูลค่า 13,200 ล้านเหรียญในขณะนั้น และในจำนวนนี้ สามารถ backup เงิน US ที่นานาชาติถือไว้ได้เพียง 3,200 ล้านเหรียญเนื่องจากที่เหลือใช้ cover การถือครองดอลลาร์สหรัฐภายในประเทศ  ประเทศฝรั่งเศสมองว่าสหรัฐเอาเปรียบทุกประเทศทั่วโลก และประกาศแผนจะเปลี่ยนดอลลาร์เป็นทองคำ
Fiat Currency
ในปี 1971 ประธานาธิบดี Richard Nixon ประกาศยกเลิกการใช้ทองคำค้ำประกันดอลลาร์สหรัฐ​ เป็นการยุติระบบ gold standard  กลายเป็นระบบการเงินกระดาษแท้ ที่ไม่มีมูลค่าอะไรมาค้ำประกัน ซึ่งก็คือระบบการเงินแบบ fiat currency เป็นระบบการเงินของโลกในยุคปัจจุบัน
ในปี 1974 สหรัฐอเมริกา ทำสัญญาเปโตรดอลลาร์กับซาอุดิอาราเบีย ซื้อขายน้ำมันด้วยสกุลดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น ส่งผลให้ประเทศเล็กประเทศน้อย ที่ต้องใช้น้ำมัน ต้องแลกเงิน US ไว้จ่ายค่าน้ำมัน สุดท้ายดอลลาร์สหรัฐก็กลายเป็นตัวกลาง ในการซื้อขายระหว่างประเทศต่าง ๆ การนำเข้าส่งออก ของประเทศเล็กประเทศน้อย  
ในขณะที่เงินตราสกุลต่างๆ ของประเทศทั่วโลก  ต้องใช้ดอลลาร์สหรัฐเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ การพิมพ์ธนบัตรขึ้นมาใช้งาน ทุกประเทศจะต้องมีทุนสำรองระหว่างประเทศ back up เช่น ประเทศไทย กำหนดให้พิมพ์ธนบัตรได้ไม่เกิน 60% ของทุนสำรองระหว่างประเทศ​  หากรัฐบาลของประเทศใด ยุคใดยุคหนึ่ง ทำเศรษฐกิจพินาศ ไม่มีเงินจ่ายหนี้ภาครัฐ แล้ว พิมพ์ธนบัตรออกมามากเกินกว่าทุนสำรอง ค่าเงินจะเฟ้อ มูลค่าตกลงอย่างรวดเร็ว ประเทศเดียวในโลก ที่พิมพ์ธนบัตรออกมา โดยไม่ต้องมีทุนสำรองในรูปของทองคำ เงินตราต่างประเทศ​หรืออื่นๆ โดยไม่ต้องกังวลด้านค่าของเงินมากคือสหรัฐอเมริกา อาศัยความน่าเชื่อถือของดอลลาร์สหรัฐแต่เพียงอย่างเดียว   และพี่แกก็มักจะพิมพ์แบงค์ออกมาใช้เรื่อย หากเศรษฐกิจตกตำ่ หนี้เสียของสถาบันการเงินเยอะ หรือไม่มีปัญญาจ่ายหนี้ค้างต่างๆ ของรัฐบาล ส่งผลให้ดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินที่ผันผวนมากสกุลหนึ่ง  
ทำไมแบงค์กงเต็กอย่าง ดอลลาร์สหรัฐยังคงได้รับความเชื่อถืออยู่ คงต้องบอกว่า พอนิกสันปล่อยดอลลาร์ลอยตัวจากทองคำ เงินดอลลาร์ก็อ่อนค่าลงใกล้ความเป็นจริง  ธนาคารกลางชาติต่างๆ ล้วนเก็บดอลลาร์สหรัฐไว้มากมาย จะเอาไปแลกคืนเป็นทองคำก็เสียเปรียบอย่างมาก เพราะต้องใช้ดอลลาร์มากกว่าเดิม สุดท้ายดอลลาร์สหรัฐก็ยังต้องใช้ซื้อน้ำมัน ซื้อสินค้าต่างๆ ระหว่างประเทศ​ ซึ่งยังคงนิยมคิดราคาเป็นดอลลาร์สหรัฐ และเศรษฐกิจสหรัฐ ก็ยังคงยิ่งใหญ่ ที่แต่และประเทศยังคงต้องทำมาค้าขายด้วย สุดท้ายก็เลยต้องถือดอลลาร์สหรัฐต่อไป   ธนาคารกลางแต่ละประเทศก็จะกำหนดสมดุล เช่น ถ้าดอลลาร์ทำท่าจะดี เศรษฐกิจสหรัฐแข็งแกร่ง ก็เข้าซื้อดอลลาร์สะสมเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ ถ้าดอลลาร์เริ่มทำท่าจะตก สถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐไม่น่าไว้ใจ ก็จะขายดอลลาร์ทิ้ง ไปเก็บเป็นทองคำแทน นักลงทุนขนาดใหญ่ ก็จะใช้วิธีนี้ เพื่อเพิ่มมูลค่าพอร์ตของตนเอง
อย่างไรก็ตาม ถ้าเราเริ่มมีเงินเก็บ และก็มีเงินไม่มากนัก  การเก็บเงินของเราไว้ในรูป fiat currency จะไม่สามารถต้านทานความผันผวน จากสิ่งต่างๆ ดังเช่น นโยบายรัฐ เศรษฐกิจ การเมือง สังคม ฯลฯ​   คนเงินเก็บน้อย จึงควรเก็บเงินออมส่วนหนึ่งให้อยู่ในรูปของโภคภัณฑ์ หรือทรัพย์สินอื่นใดที่ไม่ด้อยค่าลงแบบเงินกระดาษ​  เช่นที่ดิน กองทุนที่เชื่อถือได้ ที่มีผลตอบแทนสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ  บางคนนิยมเก็บไว้เป็นทองคำ ให้เราทำความเข้าใจว่า ทองคำ ไม่ใช่การลงทุนเหมือนอย่างที่คนพยายามบอกให้มันเป็นในตอนนี้ แต่มันคือที่เก็บมูลค่าเมื่อเกิด currency crash มิฉะนั้น ทรัพย์สินของเราที่หามาได้ จะด้อยมูลค่าลงไป ซึ่งมันเคยเกิดขึ้น และจะเกิดขึ้นอีก เพียงแต่เราไม่รู้ว่าวันไหน หากเราเตรียมตัว แล้วมันเกิดในช่วงเวลาที่เรามีชีวิตอยู่ เราก็จะปลอดภัยเท่านั้นเอง
โภคภัณฑ์อย่างทองคำ ถือว่าเป็นสินทรัพย์หลบภัย  เมื่อไรที่สภาพการลงทุนในตลาดไม่ปลอดโปร่ง Fiat Currency จะถูกเทขาย เปลี่ยนเป็นทองคำ ทำให้ราคาทองพุ่ง เมื่อไรที่สภาพตลาดน่าลงทุน ทองคำจำนวนมากจะถูกเทขาย เปลี่ยนเป็น fiat currency มาลงทุน ดังนั้น การที่เราเห็นราคาทองคำที่แกว่งตัวไปมาอย่างมากมาย จึงเป็นเรื่องปกติ แต่ intrinsic value หรือมูลค่าที่แท้จริงของทองคำ ไม่ได้ด้อยค่าลง ปัญหาคือตอนนี้ราคาทองคำอยู่ใกล้มูลค่าที่แท้จริงของมันหรือยัง  ดังนั้นหากเราคิดจะสะสมทองคำจำนวนมาก ให้ไปค้นมาก่อนว่า มูลค่าที่แท้จริงคือต้นทุนการทำเหมืองของทองคำ รวมค่าการตลาดแล้วเป็นเท่าไร เราก็จะรู้ว่าจุดไหนที่เราควรเข้าซื้อ  แต่หากเป็นการซื้อส่วนตัวจำนวนไม่มาก เพื่อประกันความเสี่ยงจากการด้อยค่าของเงิน  ราคาที่ขึ้นลงก็อาจจะไม่ได้ส่งผลต่อเรามากนัก
ความแตกต่างของสินทรัพย์ต่างๆ มีอยู่ เราจะต้องทำความเข้าใจในสิ่งนี้ให้ดี เช่น ที่ดินหรือบ้านหรือคอนโด มันอาจไม่มีผู้เช่า ถึงเวลามันอาจขายยาก มีภาระต้องดูแลต้องบำรุงรักษา มีค่าใช้จ่ายประจำเดือนเช่น ค่าส่วนกลาง ฯลฯ​  แตกต่างจากทองคำซึ่งอยากจะขายเมื่อไรก็ได้ แต่ทองคำราคาอาจจะอยู่ในช่วงขาลงในจังหวะที่เราต้องการขาย และราคาทองคำตอนนี้ถูกแบงค์ใหญ่ปั่นให้กลายเป็นการลงทุนระยะสั้นๆ  หุ้นดีๆ จะมีปันผลทุกปีแต่ทองคำไม่มีปันผล แต่ราคาหุ้นโดยเฉพาะในประเทศไทย บางทีก็ไม่มีความสมเหตุสมผล ราคาอาจดิ่งลงหรือเพิ่มขึ้นจากกองทุนเจ้ามือ ส่วนนักเก็งกำไรในอสังหาฯ​ นิยมจองซื้อโครงการที่ทำเลดีมากๆ เช่นตามแนวรถไฟฟ้า ถึงเวลาสร้างเสร็จก็ปล่อยขายทำกำไรไม่น้อยในระยะสั้นๆ ส่วนทองคำใช้เก็บมูลค่าไม่ให้หายไป  เหล่านี้คือสิ่งที่เราจะต้องทำความเข้าใจ ในความแตกต่างของสินทรัพย์แต่ละประเภท
ในขณะที่ fiat currency กลับมีมูลค่าตกลงไปเรื่อยๆ ตามอัตราเงินเฟ้อ และเป็นมูลค่าลดลงแบบสะสม เราคิดง่ายๆ ใครที่อายุ 50 ปีขึ้นไป เมื่อตอนเราเป็นเด็ก ก๋วยเตี๋ยวชามละสองบาท ต่อมาพอเราเริ่มโตขึ้น ก๋วยเตี๋ยวชามละ 12 บาท ปัจจุบันก๋วยเตี๋ยวชามละ 40 – 120 บาท  ค่าเงินได้ลดลงไปแล้วหลายสิบเท่า แม้กระทั่งเงิน USD ก็เช่นกัน หากเทียบค่าเงิน USD ตั้งแต่เร่ิมต้น จนถึงปัจจุบันนี้ ค่าเงินได้ลดลงไปแล้วกว่า 90% ดังนั้นไม่ต้องสงสัยว่า ค่าเงินกระดาษ​จะถูกด้อยค่าลงไปเรื่อยๆ เพราะมันสามารถถูกพิมพ์ออกมาใช้ได้เรื่อยๆ  และเราไม่อาจพยากรณ์นโยบายทางการเงิน ของประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศเรา ในแต่ละช่วงเวลาได้ และมันส่งผลกระทบกันไปหมด ต่อมูลค่าของเงินกระดาษ​ของเรา
Fiat currency เป็นเงินที่ถูกปั่นมากที่สุด เราจะเห็นการขึ้นลงของมัน แบบอ่อนไหวต่อข่าวเหลือเกิน อาจมีผลประโยชน์แอบแฝงได้ทุกขั้นและทุกระดับ  ปัจจุบันนี้ ความผันผวนของ digital currency ลดลงไปเรื่อยๆ ภายหลังจากที่มันทำการปรับฐานครั้งใหญ่เมื่อไม่นานมานี้  ในขณะที่ fiat currency เอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้ ดังนั้นในไม่ช้า ditigal curency จะมีความมั่นคงกว่า fiat currency ตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา ธนาคารใหญ่ๆ ในโลกนี้ เริ่มปั่นราคาทองคำเป็นช่วงๆ เป็นกลยุทธสร้างกำไรและสร้างความได้เปรียบ
นักลงทุน นักวิเคราะห์การเงินต่าง ๆ หลายฝ่ายเชื่อว่า ระบบการเงินของสหรัฐจะเกิด dollar crash ซึ่งหมายถึงการด้อยค่าลงอย่างมาก ในวันใดวันหนึ่งข้างหน้า ไปสู่ true value คือใกล้ 0
มันจะเป็นเช่นนั้นตอนไหน มันจะมีสัญญาณ เมื่อประเทศต่างๆ เริ่มขายดอลลาร์ทิ้งไป เมื่อประเทศต่างๆ เริ่มหันมาใช้ทองคำ ใช้โลหะเงิน ใช้ digital currency เพื่อธุรกรรมต่างๆ รวมไปถีงการลงทุน มากขึ้นๆ เมื่อนั้นก็จะเป็นสัญญาณเริ่มต้นของการสูญเสียความเชื่อมั่นใน USD  สุดท้ายตัวเราและคนในแวดวงเรานั่นเอง ที่จะเป็นคนเลือกว่าจะให้ fiat currency ไปต่อหรือไม่ เป็นคำถามเดียวกับการถามว่า เราจะยังคงเชื่อมั่นในระบบศูนย์กลาง ที่มีรัฐบาลคอยกำกับดูแล หรือว่าเราพร้อมแล้วที่จะไปสู่ระบบการเงินแบบไร้ศูนย์กลาง ที่ community ดูแลกันเอง ซึ่งมาพร้อมกับเทคโนโลยี internet ยุคใหม่คือ blockchain นั่นเอง

เราจะตายไหม หากระบบการเงิน crash ลงไป คำตอบคือคนที่มีเงินเก็บประเภท hard earn money เพื่อไว้ใช้ยามเกษียน จะได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด  แต่อย่างไรก็ตาม มันก็ไม่ถีงตาย วิกฤติการเงินในประวัติศาสตร์ เกิดขึ้นกับทุกประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วย ทุกคนได้รับผลกระทบ อำนาจในการจับจ่ายใช้สอยเราลดลง  แต่เราก็ผ่านมันไปเป็นวัฏจักร ขึ้นๆ ลงๆ
Quantitative Easing
ก่อนที่จะไปเรื่อง e-money, digital currency, cryptocurrency เราควรจะเข้าใจกลไกของโลกการเงิน โดยเฉพาะมาตรการที่ประเทศฟากเจริญแล้ว นิยมนำมาใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ คือ Quantitative Easing โดยเฉพาะ QE ที่เกิดในสหรัฐอเมริกา ซึ่งส่งผลกระทบต่อเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ คนไม่มีกำลังซื้อ หนี้สาธารณะสูง หนี้รัฐบาลเพิ่มขึ้นจากนโยบาย หรือจากสงคราม ฯลฯ​ เกิดหนี้เสียตามสถาบันการเงินและธนาคารจำนวนมาก ทำให้ขาดสภาพคล่อง ปล่อยกู้ยากซึ่งยิ่งทำให้เงินตึงมากขึ้น  รัฐบาลจะดำเนินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ QE ขึ้น โดยหลักการคือในภาวะที่เศรษฐกิจตกต่ำ ธนาคารชาติจะพยายามนำเงินเข้าสู่ระบบ โดยการดำเนินการซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลช่วงสั้น แต่หากยังไม่ได้ผล ก็จะดำเนินนโยบาย QE คือการเพิ่มวงเงินสำรองของธนาคารเอกชน และสถาบันการเงินผ่านการให้กู้เงินเพิ่ม ผ่านการซื้อสินทรัพย์และตราสารต่างๆ แบบผ่อนคลายสุด ๆ ทั้งที่อาจจะด้อยคุณภาพ เต็มไปด้วยหนี้เสีย จากทั้งธนาคารพาณิชย์และขยายวงออกไปถึงสถาบันการเงินเอกชนต่างๆ ด้วย เพื่ออัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ  ซึ่งเงินจำนวนนี้คาดว่าจะทำให้เงินสะพัดในระบบมากขึ้น และเศรษฐกิจกระเตื้องขึ้น และนี่ก็เป็นที่มาที่บางคนพูดว่า QE ก็คือการพิมพ์แบงค์ขึ้นมาใหม่กลางอากาศเอาดื้อๆ เพราะความจริงรัฐบาลสร้างเงินอิเลคโทรนิคขึ้นมา เพื่อเข้าไปปรับโครงสร้างการเงินของธนาคารและสถาบันการเงิน เพิ่ม bank reserve สำรองเงินฝากของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเอกชนเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารัฐจะทำ QE แต่เงินก็จะไม่ด้อยค่าลงไปมาก เพราะแม้มีเงินในระบบแล้ว แต่ภาคเอกชนส่วนใหญ่ยังไม่อยากกู้ เพราะเพิ่งผ่านสภาพบอบช้ำมา  ทำให้เงินเหลือค้างจำนวนมาก เงินที่เหลือไปไหน ปรากฎว่าเงินที่เหลือจะไหลไปยังตลาดหุ้น ตลาดทุนทั้งของประเทศตัวเองและของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ เช่นเอเชียรวมทั้งประเทศไทย   สังเกตุได้จากการที่หลัง QE แม้เศรษฐกิจตก แต่ตลาดหุ้นดีขึ้นทั่วโลก  ตลาดหุ้นไทยมี market cap ไม่มาก เมื่อเทียบกับเงินกองทุนจากสหรัฐอเมริกา เมื่อแรงซื้อมหาศาลเข้ามาก็ทำให้ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นๆ จนเมื่อเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น รัฐบาลส่งสัญญาณลด QE ลง เงินก็จะไหลกลับไปทันทีแบบตั้งตัวไม่ติด หุ้นตก แม้เงินไหลกลับไปหมดแล้วบางทียังเกิด panic sale ต่อเพื่อรักษา port ไม่ให้แตก ส่งผลให้ราคาหุ้นดิ่งลงไปอีก จากนั้นก็เร่ิมรอบใหม่
กำไรที่ได้จากการลงทุน เมื่อไหลกลับไปก็จะทำให้รัฐบาลลดหนี้ตัวเองลง ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเอกชน สามารถคืนหนี้รวมทั้งดอกเบี้ยที่กู้มาช่วง QE  หนี้เสียในสถาบันการเงินก็ได้รับการชดเชย  ส่วนรัฐบาลก็ได้เงินจริงกลับมาโดยเอาแบงค์กงเต็กไปล่อมา  หากมองแบบขวานผ่าซาก มันคือการพิมพ์แบงค์ออกมาล้างหนี้ตัวเอง แบบแยบยล โดยยืมมือประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย ที่ไม่มีความรู้ ไม่มีเครื่องมือ และไม่มีศักยภาพที่จะไปต่อกรใดๆ  ความเสียหายก็ตกอยู่แก่แมงเม่าทั้งปวง
Video อธิบายผลกระทบของ QE จาก Kbank น่าสนใจมาก
https://youtu.be/2k8Ej0zNFyw
Electronic Money
เงินตราที่เราจับจ่ายใช้สอยประจำวัน อยู่ในรูปของธนบัติและเหรียญกษาปณ์  ต่อมาเมื่อระบบ internet ได้รับการพัฒนาถึงขีด มีระบบความปลอดภัย มีระบบยืนยัน ฯลฯ​ (ผ่านศูนย์กลาง Centralized) ก็ถึงเวลาของเงินอิเลคโทรนิค นั่นคือการนำมูลค่าของเงิน ผูกโยงเข้ากับรหัสอิเลคโทรนิคในบัตรพลาสติก เมื่อมีการใช้งานจะมีการบันทึกมูลค่าที่เหลือไว้ที่ศูนย์กลาง ทั้งหมดนี้ผ่านโปรโตคอล internet ยุคปัจจุบันคือ TCP/IP และโปรโตคอลความปลอดภัยที่ใช้กับการเงินได้เช่น SSL, https
ตัวอย่างเช่น บัตรตามศูนย์อาหาร บัตร rabbit บัตรเดบิต และบัตรเงินสดอื่นๆ รูปแบบหลักของ e-money จะอิงสถานที่ตั้ง (geography) และอิง fiat currency อยู่ เช่น suica card ใช้เฉพาะในประเทศญี่ปุ่นและมีมูลค่าเป็นเงินเยน เป็นต้น นี่เป็นจุดที่ e-money แตกต่างจาก digital currency ซึ่งเป็นสกุลเงินที่จะไม่อิงกับภูมิประเทศหรือเงินตราสกุลใด
Digital Currency VS Cryptocurrency
ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า เงินสกุลดิจิตอลทุกชนิดเป็นเงินที่ไม่มีหน้าตาของเหรียญหรือธนบัตรที่จับต้องได้  บางคนอาจไม่รู้ตัวว่าเราเผลอใช้เงิน digital ไปแล้ว เช่นเวลาเราซื้อ sticker line เราจะต้องใช้เงินจริงของเราไปแลก coin ใน line app ก่อน ใครอยู่ประเทศไหนก็จะใช้เงินประเทศนั้นซื้อ เพื่อได้เหรียญไลน์​ จากนั้นเราจึงจะสามารถซื้อ sticker ได้  แม้ว่า coin ใน line app จะไม่มีเหรียญอยู่จริง เป็นเงินดิจิตัลแท้ๆ แต่ก็ใช้ซื้อสินค้าในระบบของ line ได้
เงิน cryptocurrency เป็นเงินดิจิตัลประเภทหนึ่ง cryptocurrency แตกต่างจากเงิน digital ทั่วๆ ไปคือ เงินทำการเข้ารหัสไว้ ไม่มีใครเปิดดูได้ ถ้าไม่มีรหัส  ข้อมูลธุรกรรมจะถูกเขียนเป็น Block แล้วเรียงต่อกันเป็นลูกโซ่ที่เชื่อมโยงกัน ผ่านเทคโนโลยี blockchain เช่นข้อมูล block ที่หนึ่งเขียนว่า A โอนให้ B , block ที่สองเขียนว่า B โอนให้ C ฯลฯ โดยคนที่ทำการโอนจะมีรหัส จึงสามารถเปิดดูข้อมูลใน block ได้ว่า โอนไปให้ใคร แม้ข้อมูลธุรกรรมจะถูกบันทึกไว้อย่างเปิดเผย แต่ผู้ที่มีรหัส เหมือนกับกุญแจเท่านั้น จีงจะเปิดดูหรือโอนย้ายทำธุรกรรมต่างๆ เฉพาะของตัวเองได้
เงิน digital มีทั้งแบบที่มีศูนย์กลาง (centralized) เช่น เงินในระบบ e-payment ต่างๆ เช่น paypal, line coin เหล่านี้มีคนดูแลคือเจ้าของระบบ การโอนเงินไปให้คนอื่นผ่าน paypal จะมีการบันทึกไว้ในระบบของ paypal  แต่เงินที่ไม่มีศูนย์กลาง (decentralized) จะอาศัย node ซึ่งเป็นระบบคอมพิวเตอร์ใน internet ทำหน้าที่เชื่อมต่อระหว่างผู้โอนกับผู้รับโอนโดยตรงไม่ใช้ตัวกลางอย่างธนาคาร
Cryptocurrency สร้างขึ้นครั้งแรกในปี 2009 เมื่อมีการสร้าง bitcoin ขึ้นมา โดยผู้ที่ใช้รหัสแทนตัวเองว่า Satoshi nakamoto ปัจจุบันไม่มีใครรู้ว่า เป็นบุคคลหรือกลุ่มบุคคล อาศัยอยู่ในประเทศไหน ฯลฯ​ จนทุกคนเลิกถกเถียงไปแล้ว แบบหาข้อสรุปไม่ได้ เพราะไม่มีการเปิดเผยตัวตนออกมา แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า bitcoin เกิดในช่วงวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยแนวคิดแบบไร้ศูนย์กลางควบคุม Decentralized ถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อต่อต้านธนาคารและรัฐบาล ที่ทำตัวเป็นศูนย์กลางทางการเงิน (Centralized) ส่งผลกระทบต่อมูลค่าเงินของประชาชน  โดยที่ประชาชนไม่มีสิทธิใดๆ ในการที่รัฐบาลและธนาคารกลางกำหนดนโยบายทางการเงินต่างๆ แล้วส่งผลกระทบกับเงินในกระเป๋าของประชาชน
การจะได้ bitcoin มาเราจะต้องเริ่มต้นจากการใช้เงินสกุลต่างๆ ไปซื้อมาจากตลาดซื้อขายเหรียญดิจิตัลที่เรียกว่า exchange center แล้วโอนมาเก็บไว้ในกระเป๋าเงินดิจิตัลหรือ digital wallet ของเรา  ช่วงแรกๆ bitcoin มีมูลค่าต่ำมาก ราคาหนึ่ง bitcoin มีมูลค่าไม่กี่เซนต์ เอาไปซื้ออะไรไม่ได้ ต่อมาเมื่อมีคนต้องการเหรียญ bitcoin มากขึ้น มีคำสั่งซื้อจำนวนมากใน exchange center  ก็ส่งผลให้ราคาของ bitcoin เพิ่มขึ้นอย่างมาก หรือตกลงมาอย่างมาก เมื่อผู้คนตกใจ แล้วพากันเทขายออกมา
วิธีการบันทึกบัญชีของ bitcoin ระบบจะใช้วิธีสร้างสมการยากๆ ขึ้นมา แล้วให้คอมพิวเตอร์ที่ run โปรแกรมขุด (bitcoin miner) ทำการแย่งกันแก้สมการนั้น หากเครื่องไหนแก้ได้ก่อน ก็จะได้รับสิทธิบันทึกบัญชีการซื้อขาย ต่อลงไปในสาย blockchain เหมือนกับบัญชีหางว่าวแบบเข้ารหัส ผู้ที่เปิดคอมพิวเตอร์ run โปรแกรม miner (ขุดเหมือง) ก็จะได้รับ bitcoin จำนวนเล็กน้อยเป็นค่าธรรมเนียม  ปัจจุบันกว่าครึ่งหนึ่งของ bitcoin ที่ขุดได้  เกิดจากนักขุดเหมืองซึ่งใช้คอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูง run โปรแกรมขุดอยู่ในจีนซึ่งต่อมาย้ายไปที่ฮ่องกง  ส่วนผู้ที่ถือ bitcoin จำนวนมากๆ ไม่ใช่นักขุดเหมือง แต่เป็นนักลงทุนสายเก็งกำไร
ลักษณะเฉพาะตัวของ Cryptocurrency
ความมีจำกัด เหรียญ cryptocurrency จะมีการจำกัดจำนวนเหรียญที่ผลิตออกมา  เพื่อป้องกันการด้อยค่าของเงิน (inflation) ความที่เหรียญมีจำกัด หากเหรียญใดได้รับความนิยม จะส่งผลให้มูลค่าของเหรียญนั้นสูงขึ้นไปตามกลไกของ demand supply สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เงินเข้ารหัสแตกต่างจาก fiat currency ซึ่งพิมพ์ออกมาเรื่อยๆ ดังนั้นเมื่อมีความต้องการซื้อเหรียญเพิ่มขึ้น แต่ไม่มีการผลิตเหรียญออกมาเพิ่มอีก หากเหรียญได้รับการขุดจนครบหมดแล้ว ก็ยิ่งจะทำให้ราคาเหรียญเพิ่มสูงขึ้นกว่าเดิมมากมูลค่าของเงิน cryptocurrency เหมือนกับ fiat currency ยุคปัจจุบันคือไม่มีสินทรัพย์ใดๆ มารองรับอย่างในอดีต  แตกต่างกันที่ fiat currency รัฐบาลเป็นประกัน ส่วน cryptocurrency ใช้ blockchain ซึ่งไม่ต้องให้ใครมาประกัน และมูลค่าของมันขึ้นกับdemand supply ล้วน ๆ  จึงมีความผันผวนสูง  อย่างไรก็ตามความผันผวนของเงินดิจิทัล เริ่มใกล้เคียง fiat currency ในทุกๆ ปีและมีความเป็นไปได้ว่า เงินสกุลเข้ารหัสอาจจะมีความมั่นคงกว่าเงินสกุลกระดาษ​ในอนาคตอันใกล้  เพราะถูกแทรกแซงน้อยกว่าcryptocurrency ตัวที่นักลงทุนนิยมซื้อขายและเป็นที่ต้องการสูง จะมีราคาสูงขึ้นและจะผ่านช่วงผันผวนไปได้ และเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เพราะความต้องการจะเพิ่มขึ้นในขณะที่มีจำนวนจำกัด 
นอกจากนี้ ปัจจุบันมีการพัฒนาเหรียญใหม่ๆ แบบมีวัตถุประสงค์เฉพาะ เพื่อใช้งานในหมู่ผู้ใช้ประเภทเดียวกัน เช่น เหรียญ crypto ในหมู่นักเล่นเกม, เหรียญ crypto ที่พัฒนา point of pay ให้ใช้ซื้อขายได้จริงผ่านบัตร Master Card หรือ AMEX, หรือเหรียญที่ออกแบบมาเพื่อนักลงทุนเช่น FOIN เป็นต้นเงินเข้ารหัส มีความโปร่งใส หลายคนยังเข้าใจว่า เงิน cryptocurrency เป็นเงินลับไม่มีใครรู้ และเป็นช่องทางให้อาชญากรนำเอาไปใช้งาน โดยเฉพาะจากข่าวในอดีต ที่อาชญากรต้องการเรียกค่าไถ่เป็นเงิน cryptocurrency ความจริงแล้ว อาชญากรก็คงจะไม่ค่อยเข้าใจมันเท่าไร เพราะในความเป็นจริง cryptocurrency เป็นเงินที่โปร่งใสที่สุด เนื่องจากข้อมูลทางธุรกรรมทั้งหมดถูกบันทึกไว้ใน Blockchain ซึ่งตำรวจ digital สามารถถอดรหัสเข้าไปอ่านได้  หากมีเวลาเพียงพอ  ในขณะที่เงินสดหรือทองคำ หากนำไปใช้ในธุรกิจผิดกฎหมาย จะสามารถผ่านมือ ผ่านการฟอกแบบไร้ร่องรอย ไม่สามารถติดตามไปถึงต้นสายปลายทางได้ เพราะไม่มีข้อมูลอะไรใส่ไว้ในธนบัตรเลย นอกจากหมายเลขของธนบัตรเท่านั้น ส่วนเงิน cryptocurrency หากผ่านการฟอกมาไม่ว่าจะผ่านมากี่ร้อยกี่พันมือ ข้อมูลทั้งหมดจะทิ้งร่องรอยไว้ใน Blockchain ทั้งสิ้น  ดังเช่นเรื่องราวที่ exchange center ขนาดใหญ่ในญี่ปุ่นชื่อ Mt Gox ถูกแฮ็ก แล้วเงิน cryptocurency ของลูกค้าหายไป ในที่สุด ตำรวจ digital สามารถตรวจสอบพบ นำไปสู่การจับกุมตัวเจ้าของ website BTC-e มาดำเนินคดีได้ เนื่องจากติดตามเส้นทางการเงินของ cryptocurency ของลูกค้า Mt Gox จนไปพบว่า มีการฟอก bitcoin นั้นไปจนถึง BTC-e และโอน crypto ที่ถูกขโมยมาเข้า wallet ของตัวเอง ดังนั้นใครที่คิดว่า จะใช้cryptocurrency เพื่อดำเนินธุรกรรมที่ผิดกฎหมาย อาจจะต้องคิดใหม่ เพราะข้อมูลใน blockchain ไม่สามารถ hack ได้แบบไม่ให้ตรวจพบ เนื่องจากเชื่อมต่อกันเป็น block ลูกโซ่ มันจึงเป็นการบันทึกเส้นทางการเงินแบบที่ใครก็แก้ไม่ได้ และสามารถสาวไปถึงได้ทุกคนใน blockchain หากเราเอารหัสกุญแจของเรา ไปให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบ อย่างไรก็ตามใครที่ซื้อ cryptocurrency ไว้ ก็ไม่ต้องไปกังวลหากเราไม่ได้ไปขโมยเหรียญของใครมา และตราบใดที่เราเก็บรหัสกระเป๋า wallet ของเราไว้กับตัวก็ไม่มีใครอาจจะล่วงรู้ได้ เพราะความที่เป็นเงินเข้ารหัส และกุญแจก็ส่งต่อเป็นมรดกได้ด้วยเงิน cryptocurrency มีความปลอดภัยสูง สูงกว่าเงินสกุลใดๆ และสูงกว่าสินทรัพย์อื่นๆ ในแง่ของการโจรกรรม และการแทรกแซงจากนโยบายภาครัฐ การยึดและการอายัดทำไม่ได้ง่ายๆ การ hack เงิน crypto ไม่สามารถทำได้โดยไม่ให้ใครรู้ เพราะแต่ละข้อมูลใน block เชื่อมโยงต่อกันแบบมีเงื่อนไข หากจะ hack ต้องเข้าไปแก้ไขข้อมูลทุก block พร้อมๆ กัน แต่ข้อมูลทุกส่วนเข้ารหัสความปลอดภัยแบบสูงสุด ทำให้เป็นไปได้ยาก และจนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีใครสามารถ hack เงิน crypto ได้ แต่ตำรวจ digital ที่เป็น hacker ขั้นเซียนสามารถถอดรหัสเข้าไปได้เพียงอ่านข้อมูลใน block ซึ่งเป็นประโยชน์ในกรณี ต้องติดตาม crypto ที่ถูกขโมยไป

แม้ว่าเงิน crypto ตัวมันเองจะ hack ไม่ได้ แต่เงินก็ถูกขโมยได้ จากกระเป๋าเงินประเภท web wallet หากมีการ hack เข้าไปในบัญชี web wallet ของกระเป๋าเงินของเรา แล้วจัดการโอนเงินออกไปโดยที่เจ้าตัวไม่ยินยอม  กับอีกจุดหนึ่งคือในตลาดexchange center online ซึ่งอาจตกเป็นเป้าการโจรกรรม เพราะตลาดเหล่านั้นต้องมี wallet เพื่อใช้เก็บเหรียญ crypto ด้วยอย่างไรก็ตามจุดอ่อนของกระเป๋าเงิน cryptocurrency ในอดีต ค่อยๆ ได้รับการแก้ไข ปัจจุบันนี้แทบทุกแห่งจะใช้ระบบยืนยันตัวตนแบบสองเงื่อนไข หรือบางแห่งใช้ hard key เป็นอุปกรณ์ภายนอกที่คล้ายๆกับ USB Drive เสียบเข้ากับคอมพิวเตอร์เพื่อยืนยันตัวตน ทุกครั้งที่เราจะทำธุรกรรมใน wallet ของเราอนาคตของเงิน cryptocurrency ขึ้นอยู่กับสองส่วนคือ การยอมรับจากภาครัฐ และการยอมรับจากผู้ใช้  เพราะแม้ว่าผู้ใช้จะเพิ่มขึ้นแต่หากรัฐไม่ยินยอมให้ถูกกฏหมาย หรือให้ใช้ชำระหนี้ได้ทั่วไป ก็ยังนำไปใช้ได้ยาก ดังนั้นอนาคตยังคงคาดเดาไม่ได้ร้อยเปอร์เซนต์  แม้ว่า blockchain technology จะเป็นเทคโนโลยีของยุคหน้า โดยคาดการณ์กันว่าข้อมูลต่างๆในอนาคตของระบบinternet of things จะอาศัยเทคโนโลยี blockchain เข้ามาพัฒนา แต่ปัจจุบันเงิน cryptocurrency เกิดขึ้นใหม่เป็นจำนวนมากและหลายคนมองว่าเงิน cryptocurency อยู่ในช่วงฟองสบู่ รอวันแตก อย่างไรก็ตาม วิกฤติแบบฟองสบู่ เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจการเงินโลก เกิดขึ้นกับหุ้น ฯลฯ ​มาก่อนหลายรอบแล้วในประวัติศาสตร์  สุดท้ายหากมีวิกฤติ cryptocurrency เกิดขึ้น เงินสกุลเล็กสกุลน้อย ก็จะล้มหายตายจากไป แต่เงินสกุลที่ได้รับความนิยม ก็ยังคงอยู่ และเติบโตต่อไปได้เงิน cryptocurrency มีระบบ smart contract – ซึ่งเป็นข้อตกลงอัตโนมัติ ที่จะใช้บังคับผ่านระบบ blockchain แทนที่จะใช้ระบบกฏหมายสัญญาผูกมัดแบบดั้งเดิม  เราสามารถเขียนสัญญาอัตโนมัติบน blockchain เพื่อการซื้อขาย เพื่อสัญญาอื่นใด ที่เกี่ยวข้องกับ cryptocurrency  เมื่อบรรลุเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญา blockchain ทั้งสองฝ่ายเท่านั้น สัญญาจึงจะ execute หากไม่บรรลุเงื่อนไขพร้อมกันทั้งสองฝ่าย ก็จะมี timeout คือหมดอายุไป ดังนั้นก็ไม่ต้องใช้ตัวกลางทางกฎหมายใดๆ  อนึ่ง ใครที่คิดว่าbitcoin ไม่มี smart contract เป็นความเข้าใจผิดที่เกิดจากโฆษณาของ Ethereum ที่พัฒนาเพื่อรองรับระบบ Smart contract โดยเฉพาะ ผู้คนก็เลยเข้าใจว่า bitcoin ทำไม่ได้  ความจริงแล้ว ปัจจุบันมี e-commerce แพลทฟอร์มหนึ่ง ที่เลือกใช้ blockchain ของ bitcoin ในการเขียน smart contract ใช้ใน e-commerce platform ของตัวเอง คือ particl.io ผู้สนใจไปหาอ่านเพิ่มได้ ว่าทำไมเขาถึงเลือกใช้ bitcoin blockchain เป็นเหตุผลด้านความปลอดภัยที่ดีกว่า มีความเป็นส่วนตัวสูงกว่า และเขียนง่ายกว่าCryptocurrency ไม่ได้อาศัยศูนย์กลาง (decentralised) ในการทำธุรกรรม เป็นธุรกรรมแบบ peer to peer (ติดต่อกันโดยตรง) และ blockchain เป็น distributed ledger คือการบันทึกบัญชีแบบกระจายศูนย์  ดังนั้นจะต้องมีผู้บันทึกบัญชี ซึ่งแล้วแต่การออกแบบ ปัจจุบันแบ่งได้เป็นสองแบบ คือ 
ระบบ prove of work เช่น blockchain ของ bitcoin ในกรณีนี้ก่อนบันทึกบัญชี  ระบบจะสร้างสมการทางคณิตศาสตร์ที่แก้ยากแล้วนักขุดเหรียญที่รันโปรแกรมขุดทั่วทุกมุมโลกจะได้รับสมการนั้น เครื่องไหนแก้ได้ก่อนก็จะได้สิทธิในการบันทึกบัญชี แลกกับค่าธรรมเนียมเป็นเหรียญ  อย่างไรก็ตามระบบนี้มีปัญหา เพราะต้องใช้ไฟฟ้าใช้ CPU แรงๆ นักขุดเหรียญทั่วโลกต้อง run โปรแกรมขุดพร้อมๆ กันแต่มีเพียงคนเดียวที่ได้รางวัล ส่งผลให้ ณ ปัจจุบัน ค่าไฟที่ใช้ในการบันทึกธุรกรรม 1 bitcoin จะสูงเท่ากับค่าไฟที่ใช้ในบ้านคนอเมริกัน 1.57 คนเป็นเวลา 1 วัน ซึ่งสูงเกินไปและในที่สุดจะไม่คุ้มการลงทุน คนก็จะออกจากการขุดไปเรื่อยๆ ในที่สุด ณ จุดหนึ่งในอนาคตการขุดจะไปอยู่ในมือคนกลุ่มน้อยที่ควบคุมธุรกรรมของ bitcoin ไว้ทั้งหมด และถ้าเมื่อไรการขุดตกไปอยู่ในมือของนักขุดกลุ่มเดียวที่ควบคุมเกิน 51% ของทั้งหมด (กลายเป็น majority) เมื่อนั้นก็อาจเป็นได้ที่เขาจะสร้าง block ปลอมขึ้นมาเพื่อย้ายเงินเข้ากระเป๋าตัวเอง จึงเป็นที่มาของการสร้างระบบบันทึกบัญชี prove of stake ขึ้นมา
ระบบ prove of stake กำหนดเป็นสัดส่วนว่า ใครเป็นผู้ถือเหรียญในสัดส่วนเท่าไรก็จะได้รับการจัดสรรให้มีสิทธิเขียน ledger ในblock เป็นจำนวนเท่านั้น เช่น หากนาย ก มีเหรียญ Litecoin อยู่ 3% ของเหรียญทั้งหมด นาย ก จะเป็นผู้บันทึก Block จำนวน3% ของ block ทั้งหมด ดังนั้น นาย ก​ ก็มีสิทธิที่จะได้ค่าธรรมเนียม 3% ของค่าธรรมเนียมทั้งหมดนั่นเอง  วิธีนี้นอกจากจะประหยัดพลังงาน ก่อให้เกิดความยั่งยืนแล้ว ยังเป็นการลด incentive ที่จะสร้าง block ปลอมขึ้น เช่น หากนาย ก ต้องการสร้างblock ปลอมขึ้นเพื่อตัวเอง เขาจะต้องเป็นเจ้าของเหรียญนั้นถึง 51% ขึ้นไป จึงจะมีสิทธิ แต่การที่เขาสร้าง block ปลอมมันคือการโจมตีเหรียญของตัวเอง ทำให้เหรียญของตัวเองราคาตกลง ซึ่งเขาถือเหรียญไว้ถึง 51% ดังนั้นมันจึงไม่คุ้มค่าเป็นอย่างยิ่ง และไม่มีทางเป็นไปไม่ได้ ถ้าคิดจาก market cap ของเหรียญดีๆ ณ วันนี้


ICO หรือ Initial Coin Offering
การพัฒนาเหรียญ cryptocurrency ต้องอาศัยทุนจำนวนหนึ่ง  ผู้พัฒนาเหรียญมีทางเลือกในการระดมทุนเพื่อนำมาพัฒนาเหรียญ บางเจ้าอาจจะยกให้บริษัททางการตลาด  เข้ามาวางแผนการตลาดขายความเป็นหุ้นส่วนผ่านระบบตัวแทนกระจายผลตอบแทน แลกกับการครอบครองเหรียญก่อนเข้าสู่ตลาด ซึ่งมีทั้งที่สำเร็จและไม่สำเร็จ ทั้งที่จริงจังและหลอกลวง   อีกรูปแบบหนึ่งที่นิยมมากกว่าคือการขายสิทธิจองเหรียญ ที่เรียกว่า Initial Coin Offering  ในกรณีนี้ผู้ผลิตเหรียญ​จะแสดงวัตถุประสงค์ของการสร้างเหรียญ ตลอดจนรายละเอียดว่า เหรียญของตนจะผลิตออกมาจำนวนเท่าใด เก็บไว้สำรองเท่าไร นำออกสู่ตลาดเพื่อจับจองซื้อเท่าไร มี roadmap ในการพัฒนาอย่างไร มีเงื่อนไขต่างๆ อย่างไร เอกสารดังกล่าว คล้ายๆ กับเอกสารชี้ชวนเวลาจะนำหุ้นบริษัทใดๆ ออกสู่สาธารณะ เรียกว่า white paper
เหรียญ cryptocurrency ที่ประสบความสำเร็จ ไม่จำเป็นต้องมี ICO เสมอไป เช่น bitcoin ซึ่งเป็นเหรียญที่มี market cap สูงที่สุดในโลกก็ไม่มี ICO เพราะความสำเร็จของเหรียญ​ไม่ได้เกี่ยวข้องกับ ICO แต่ ICO คือวิธีการระดมทุนคนทั่วไปจากอากาศ เพื่อเอาเงินมาสร้างเหรียญ โดยไม่ต้องมีอะไรค้ำประกันเลย  เป็นหนึ่งในวิธี cloud-funding นั่นเอง โดยทั่วไปเหรียญ cryptocurency จำนวนมากสามารถระดมทุนได้หลายล้านเหรียญสหรัฐ ภายในเวลาไม่กี่นาที
ไม่ว่าผู้พัฒนาเหรียญจะใช้วิธีใดก็ตามในการระดมทุน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การที่เหรียญจำนวนมาก กระจายไปอยู่ในมือผู้ใช้จำนวนมาก ภายในเวลาที่สั้นที่สุดเท่าที่จะทำได้  และเหรียญได้รับความเชื่อถือจากสาธารณชน  เพราะเมื่อ list เหรียญบนกระดานซื้อขายตามตลาด exchange ต่างๆ แล้ว ก็จะมีการซื้อการขายจำนวนมากพอ มีสภาพคล่องมากพอ กลายเป็นเหรียญที่ติดตลาดได้
เหรียญ cryptocurrency สัญชาติไทย ในปัจจุบันที่ประสบความสำเร็จมีหลายเหรียญด้วยกัน  หากมองลึกๆ แล้วการออกแบบเหรียญ การกระจายเหรียญให้คนที่มีเหรียญอื่นถืออยู่ก่อน เทคนิคเหล่านี้ มีความสำคัญมากต่อความสำเร็จของเหรียญ เพราะหัวใจความสำเร็จของเหรียญ อยู่ที่ความนิยมของภาคประชาชน  
ปัจจุบัน ตลาดหลักทรัพย์ประเทศต่างๆ มองว่า cryptocurency อย่าง bitcoin ไม่ใช่หลักทรัพย์ แต่การระดมทุนแบบ ICO เข้าข่ายหลักทรัพย์   ต้องกำกับดูแล ต้องถูกตรวจสอบและมีกฎเกณฑ์ข้อบังคับ เพราะการระดมทุนของมัน เข้าข่ายหลักทรัพย์ ซึ่งต้องผ่านคณะกรรมการกำกับดูแล
บางคนคิดว่า เหรียญที่มี ICO เป็นเหรียญที่น่าเชื่อถือ แต่เหรียญที่ระดมทุนผ่านตัวแทนจำหน่าย มีระบบผลตอบแทนลำดับชั้น เป็นเหรียญหลอกลวง เป็นแชร์ลูกโซ่  อย่างไรก็ตามข้อมูลไม่ได้เป็นเช่นนั้น ปัจจุบันมีเหรียญที่ไม่ได้ระดมทุนผ่าน ICO แต่อาศัยองค์กรหรือบริษัททางการตลาดและการสร้างระบบตัวแทน ก็สามารถระดมทุนได้มากพอ และสามารถแจ้งเกิด คือ การนำเหรียญเข้าสู่ตลาด exchange ได้สำเร็จมาแล้วหลายเหรียญ
ในขณะเดียวกัน จากการศึกษาของ Satis Group LLC, ซึ่งเป็น consulting firm จาก New York ทำการศึกษา ICO ทั้งหมดที่ระดมทุนอยู่ กลับพบว่า80% เป็น SCAM คือการหลอกลวง ได้เงินไปแล้วปิดเวปหนี เป็นต้น6% FAILED คือระดมทุนได้ไม่ครบ ไม่พียงพอที่จะสร้างเหรียญได้สำเร็จ ขยายเวลาการระดมทุนออกไปเรื่อยๆ หรือกำลังแสวงหาการระดมทุนเพิ่ม แบบใหม่ๆ อยู่5% GONE DEAD คือตายจากไปเฉย ๆ ทั้งที่ระดมทุนได้ แต่ก็ไม่สามารถ  สร้างเหรียญให้น่าเชื่อถือพอ ที่จะได้รับการ list ในตลาด exchange ด้วยเหตุผลทางเทคนิค และความยุ่งยากบางประการ

ดังนั้น จาก ICO ทั้งหมด ไปไม่ถึงดวงดาวสูงถึง 92%  มีเพียง 8% เท่านั้นที่สามารถ list เหรียญของตนเองในตลาด exchange ได้ในที่สุด ข้อมูลนี้นักลงทุนต้องตระหนักไว้ ก่อนที่จะลงทุนใน ICO เพียงเพราะอ่านจากข่าวที่นักลงทุนอื่น ได้รับผลตอบแทนมหาศาล จากการลงทุนใน ICO
Forking
ก่อนจะเข้าใจเรื่อง forking เราจะต้องเข้าใจพื้นฐานของ bitcoin เสียก่อนเนื่องจาก Bitcoin ถือเป็นเงินตราสมบูรณ์แบบ ตามความหมายของ currency คือ มี unit of account, store of value, และเป็น medium of exchange
Bitcoin เป็นระบบเงินตราและระบบเครือข่ายการจ่าย ที่ไม่อาศัยตัวกลางอย่างเช่นธนาคาร แต่เป็นการติดต่อกันโดยตรงจากผู้โอนไปผู้รับโอน (peer to peer) ขบวนการที่อยู่เบื้องหลัง bitcoin คือ โปรโตคอล software ที่มีกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ใช้ในเครือข่าย  สิ่งหนึ่งที่เราจะต้องทราบคือ โปรโตคอลของ Bitcoin นั้นผู้สร้างออกแบบให้เป็น open source ซึ่งเปิดเผยให้ทุกคนที่ต้องการสามารถ download ไปศึกษาหรือแม้แต่เอาไปใช้ได้ฟรีBitcoin เลือกวิธีการบันทึกบัญชีแบบ blockchain ซึ่งได้รับการพัฒนาโดยคนอื่นมาก่อนหน้านี้แล้ว โดยใช้การสร้าง block ของข้อมูลเพื่อบันทึกบัญชีการทำธุรกรรมไว้ และมี header เหมือนกับเลเบลปิดหน้า block แต่ละอันไว้ header ของ block ก่อนหน้าจะนำไปเป็นส่วนหนึ่งของ header ของ block ต่อไป เชื่อมโยงกันไปเป็นลูกโซ่ จุดนี้เป็นจุดแข็งที่ทำให้ไม่สามารถ hack เข้าแก้ไขข้อมูลใน blockchain แล้วจะไม่ถูก reject เพราะแต่ละ block มีความเชื่อมโยงต่อเนื่องกันไปทั้ง chain
ความที่เป็น open source ดังนั้นใครๆ ก็อาจจะ download โปรโตคอลที่มีอยู่ ไปพัฒนาปรับปรุงแก้ไขได้   ข้อเสนอการเปลี่ยนแปลงแก้ไข ที่มีต่อเหรียญที่เกิดขึ้นอยู่ในตลาดอยู่แล้วจะเรียกว่า forking แต่จะได้รับการยอมรับหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับ community เป็นหลัก
Forking คือการเปลี่ยนแปลงแก้ไขกฎเกณฑ์ต่างๆ ในโปรโตคอล ซึ่งแบ่งเป็นสองแบบคือ
Soft Forks คือ software upgrade เพื่อให้โปรโตคอลดีขึ้นกว่าเดิม โดยยังสามารถใช้งานได้ร่วมกับ blockchain เดิม (มี backward compatibility) เช่นการเปลี่ยนขนาดของ block size การปรับปรุงระบบ validation เป็นต้น cryptocurrency มี soft fork เป็นเรื่องปกติ เพราะถือเป็นการปรับปรุงให้ดีขึ้น ตัวอย่างของ soft forks เช่น P2SH เป็นการปรับปรุงให้ bitcoin สามารถรองรับ address แบบหลาย signature ได้ soft forks จึงไม่ใช่การสร้างเหรียญใหม่ และผู้ใช้เหรียญไม่ต้องทำอะไร ส่วนนักขุดเหรียญ ก็จะต้อง upgrade software เพื่อรองรับ feature ใหม่ๆ
Hard Forks คือการ upgrade software ของระบบ cryptocurrency แบบขนานใหญ่ ทำให้ไม่สามารถใช้งานร่วมกับของเดิมได้ (ไม่มี backward compatibility)  อย่างไรก็ตาม hard forks แบ่งเป็นอีกสามประเภทHard Forks ที่มีการวางแผนไว้ล่วงหน้า (Planned Hard Forks) ซึ่งเป็นไปตาม roadmap ของการพัฒนาเหรียญ เช่น  hard forks ของเหรียญ Ethereum’s Byzantium ในเดือนตุลาคม 2017 หรือ hard fork ของเหรียญ Monero ในเดือนมกราคม 2017 ลักษณะแบบนี้จึงไม่ใช่การสร้างเหรียญใหม่ เพียงแต่ปรับปรุงระบบใหม่ แบบยกเครื่องทิ้งของเก่าไปHard Forks แบบตกลงกันไม่ได้ (Contentious Hard Forks) เกิดขึ้นจากความเห็นที่ต่างกันของ community ในเรื่องการปรับปรุงระบบ จนในที่สุด ส่วนหนึ่งของชุมชนหันมาสร้าง chain ใหม่ซึ่งพวกเขาคิดว่าดีกว่าของเดิม  เช่นในกรณีการเกิดขึ้น ของ Bitcoin Cash ซึ่งเปลี่ยนแปลง code ทำให้ใช้เวลาทำรายการสั้นกว่า bitcoin และมีจำนวนเหรียญมากกว่า bitcoin , อีกตัวอย่างหนึ่งคือEthereum Classic ซึ่ง Ethereum ต้องทำการ Hard Forks ครั้งหนึ่งเพื่อแก้ไขผลของการ hack เข้าไปในโปรแกรมหนึ่งของมันที่ชื่อ Decentralised Autonomous Organization หรือ DAO อย่างไรก็ตามในขณะที่คนส่วนใหญ่หันมายอมรับการ Hard Forks ของ ethereum แต่กลับมีคนส่วนน้อยใน community ไม่ต้องการให้มีการแก้ไขใดๆ และไม่ยอม upgrade software และยังคงขุดเหรียญโดยใช้ software เดิมต่อไป ทำให้เหรียญที่ขุดได้ต้องตั้งชื่อใหม่ว่า Ethereum classic จึงแตกเป็นสองเหรียญไปSpin-off Coins เนื่องจากโปรโตคอลของ bitcoin เป็นแบบ open source  จึงมีผู้เอา codebase ของ bitcoin ไปสร้างเหรียญใหม่ขึ้นมาได้ ซึ่งผู้สร้างเห็นว่าเป็นเหรียญที่พัฒนาให้ดีขึ้นกว่าเดิม ตัวอย่างเช่น Litecoin, Namecoin, Peercoin, Auroracoin เป็นต้น

กลยุทธหนึ่งในการ Hard Forks เพื่อให้ได้รับการยอมรับอย่างรวดเร็วจาก community ทำโดยการออกเหรียญจำนวนหนึ่งแจกให้ฟรี สำหรับผู้ที่ถือเหรียญต้นแบบอยู่
โดยสรุป Hard forks เป็นแง่มุมที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของ cryptocurrency ณ เวลานี้ บางครั้งก็เป็นไปโดยถูกต้องเพื่อการพัฒนาให้ดีขึ้น บางครั้งก็เป็นความเห็นที่แตกต่างกันของชุมชนเจ้าของเหรียญ และบางครั้งก็เป็น SCAM เพื่อหลอกลวงเอาเงินจากนักลงทุน แล้วลอยนวลหายไป
ความเคลื่อนไหวของ cryptocurrency
ปัจจุบัน ธนาคารกลางประเทศต่างๆ เริ่มสร้าง cryptocurrency ของตนเองขึ้นมา เพื่อใช้เป็นตัวกลางในการทำธุรกรรม เช่น FedCoin ของธนาคารกลางสหรัฐ​ CadCoin ของธนาคารกลางแคนาดา
ธนาคารพาณิชย์หลายแห่ง กำลังพัฒนา cryptocurrency ของตัวเอง เพื่อการทำธุรกรรมด้านโอนเงินข้ามประเทศระหว่างกัน เป็นหลัก
ประเทศที่ประกาศว่า Bitcoin เป็นเงินที่ถูกต้องตามกฎหมายได้แก่ ญี่ปุ่น อินเดีย รัสเซีย ฯลฯ​ ปัจจุบัน ร้านค้าอย่าง big camera หรือ สายการบิน peach airlines รับ bitcoin เป็นช่องทางการชำระเงิน และคาดว่าร้านค้าต่างๆ ประมาณ​ 300,00 ร้านในญี่ปุ่นจะรับ bitcoin
สำหรับประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2014 ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศว่า bitcoin ในประเทศไทย ไม่ผิดกฏหมาย แต่ก็ยังไม่มีกฏหมายรองรับ จึงควรที่จะใช้อย่างระมัดระวัง.
ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดให้บริการระบบโอนเงินด้วย Blockchain ของ Ripple ระหว่างประเทศไทยและญี่ปุ่น
บริษัท American Express (AMEX) และ Ripple (XRP) ประกาศร่วมกันพัฒนาระบบจ่ายเงินผ่าน Blockchain โดยเร่ิมต้นใช้งานในกลุ่มลูกค้าองค์กร (B2B) ในประเทศสหรัฐฯและอังกฤษ ผ่านธนาคาร Santander UK โดยแพลทฟอร์มดังกล่าวจะสามารถใช้แทรคธุรกรรมได้แบบ real-time
บริษัท LianLian International ซึ่งเป็นผู้ให้บริการด้านการชำระเงินในประเทศจีนจะร่วมมือกับทาง Ripplenet เพื่อให้บริการธุรกรรมข้ามพรมแดนที่รวดเร็วและไม่แพงแก่ลูกค้าทั่วทั้งสหรัฐยุโรปและจีนล่าสุดRipple มีความร่วมมือกับสถาบันทางการเงินกว่า 100 แห่ง  รวมถึง Moneygram ในช่วงกลางเดือนมกราคม 2561 เพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการชำระเงิน
ประเภทของเหรียญ cryptocurrency
เราถือว่า Bitcoin คือต้นแบบของ cryptocurrency ทั้งปวง ดังนั้นในตลาด exchange ใหญ่ COIN หมายถึง bitcoin
Coin ใดๆ ก็ตาม ที่สร้างขึ้นใหม่โดยพัฒนาจาก open source protocol ของ bitcoin โดยสร้าง blockchain ของตัวเองขึ้นมา เราจะเรียกว่า ALTCOIN เช่น Litecoin, Ethereum, Ripple, NTX, Omni
Coin ใดๆ ก็ตามที่ไม่มี blockchain ของตัวเอง แต่พัฒนาขึ้นมาจากมาตรฐานของ Coin ต้นแบบที่ยินยอมให้ใช้ blockchain ของ coin ต้นแบบนั้นๆ เราจะเรียกว่า TOKEN เช่นมาตรฐานของ Ethereum platform หรือมาตรฐานของ Waves platform อย่างไรก็ตาม ผู้ถือเหรียญเหล่านั้น อาจจะไม่ค่อยพอใจ หากเหรียญของตนเอง ถูกเรียกว่า Token ดังนั้น exchange center บางแห่งก็อาจจะเรียกว่า Coin ก็ได้เป็นเรื่องของความรู้สึกเท่านั้นเอง ไม่มีถูกผิด
ตัวอย่าง Ethereum มีเทมเพลทมาตรฐานให้นักพัฒนาเหรียญใช้ เรียกว่า ERC-20 Standard ซึ่งตอนนี้เกิดเหรียญรุ่นใหม่มากกว่า 40 เหรียญจากมาตรฐานนี้ เหรียญ Omisego ชื่อดังสัญชาติไทยที่โด่งดังไปทั่วโลก ก็พัฒนาจาก ERC-20 standard เช่นกัน
ผู้พัฒนาเหรียญ จะดำเนินการสร้างเหรียญด้วยวิธีใดๆ ข้างบน, จากนั้นก็เขียน smart contract เพื่อ cloud funding,  เขียน white paper,  สร้างกลุ่ม social ผู้สนใจเหรียญเพื่อ update ข้อมูลเหรียญ (ส่วนใหญ่ผ่าน Telegram) จากนั้นก็พร้อมแล้วที่จะ ICO
Sponsorspot_img
spot_img
spot_img
spot_img
ติดตาม Siambitcoin

ข่าวล่าสุด